วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

วิธีการดูแลรักษาสุขภาพตา - การตรวจสุขภาพตา


การวัดระดับการมองเห็น การวัดสายตา การวัดความดันตา


การหยอดยาขยายม่านตา การพบจักษุแพทย์

สาเหตุที่การตรวจสุขภาพตามีความสำคัญ
การวัดระดับการมองเห็น การวัดสายตา การวัดความดันตา การหยอดยาขยายม่านตา การพบจักษุแพทย์ สาเหตุที่การตรวจสุขภาพตามีความสำคัญ ท่านอาจสงสัยว่า ทำไมต้องตรวจสุขภาพตา หากท่านไม่พบความผิดปกติเกี่ยวกับดวงตาหรือการมองเห็น แต่ในความเป็นจริงแล้ว โรคทางตาบางโรคไม่แสดงอาการให้เห็นจนกว่าจะอยู่ในขั้นที่รุนแรง ซึ่งอาจไม่สามารถรักษาให้เป็นปกติได้ ดังนั้น ท่านจึงควรเข้ารับการตรวจสุขภาพตาอย่างละเอียดอย่างน้อยสองปีต่อหนึ่งครั้ง และเมื่อท่านอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โอกาสที่จะเกิดโรคทางตามีสูงขึ้นพร้อมกับอายุที่มากขึ้น ตัวอย่างเช่น โรคต้อหิน พบในผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ซึ่งไม่มีอาการใดๆเลยประมาณ 0.5 %

ขั้นตอนการตรวจมี 4 ขั้นตอน คือ
1. การวัดระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่า

ขั้นตอนแรกในการตรวจสภาพตา คือ การวัดระดับการมองเห็น ด้วยตาเปล่า ซึ่งช่วยให้ทราบว่าท่านสามารถมองเห็นวัตถุที่อยู่ไกลได้ดีมากเท่าไร โดยการอ่านแผนภูมิตัวเลขซึ่งมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ผลของการวัดระดับการมองเห็นด้วยตาเปล่าจะได้รับการวัดออกมาในระยะห่าง 20 ฟุต โดยเทียบกับการมองเห็นของคนทั่วไป ตัวอย่างเช่น การมองเห็นในระดับ 20/200 หมายถึง ตัวเลขที่เล็กที่สุดที่ท่านสามารถอ่านได้ในระยะห่าง 20 ฟุต คนทั่วไปสามารถอ่านได้ในระยะ 200 ฟุต ซึ่งหมายความว่าท่านไม่สามารถมองเห็นได้ดีเท่ากับคนทั่วไป

การสอบใบขับขี่ด้วยตาเปล่าผ่านได้ จะต้องมีการมองเห็นอยู่ที่ระดับ 20/40 ดังนั้นการมองเห็นในระดับ 20/40 จึงถือเป็นการมองเห็นปกติตามกฎหมาย สำหรับการมองเห็นในระดับ 20/20 ถือว่าเป็นการมองเห็นที่ดีที่สุด หากท่านไม่สามารถมองเห็นได้ในระดับ 20/20 ขั้นตอนต่อไปในการตรวจ คือ การตรวจด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ ซึ่งเป็นการตรวจหาความผิดปกติ เช่น สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และสายตาเอียง

2. การวัดสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ
หากท่านไม่สามารถมองเห็นได้ในระดับ 20/20 การตรวจด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ สามารถตรวจหาความผิดปกติในการมองเห็นของท่านได้ เช่น สายตาสั้น สายตายาวโดยกำเนิด และ สายตาเอียง ซึ่งเกิดจากกำลังการรวมแสงไม่พอดีกับความยาวของลูกตา การวัดสายตาด้วยเครื่องวัดสายตาอัตโนมัติ สามารถหาค่าความผิดปกติในการมองเห็นของท่าน และมีการเปลี่ยนเลนส์ในแบบต่างๆ เพื่อให้ได้การมองเห็นที่ดีที่สุดในตาแต่ละข้าง ซึ่งจักษุแพทย์จะใช้ผลจากการวัดสายตานี้ เพื่อใช้ตัดแว่นสายตาซึ่งเหมาะสมกับค่าสายตาของท่าน และค่าสายตาที่แน่นอนในการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ

3. การวัดความดันตา
การวัดความดันตา เป็นการตรวจหาโอกาสที่จะเป็นโรคต้อหิน ซึ่งเกิดจากดวงตาไม่สามารถทนความดันภายในตัวเองได้ ผู้ที่เป็นโรคต้อหินส่วนใหญ่จะไม่มีอาการใดๆ และมีความดันตาสูงกว่าปกติซึ่งอยู่ที่ 10-20 มิลลิเมตรปรอท หากตรวจแล้วพบว่ามีความดันตาผิดปกติ จักษุแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียดว่าเป็นโรคต้อหินหรือไม่ การวัดความดันตามีหลายวิธีและระดับความถูกต้องแม่นยำก็แตกต่างกันไป

4. การตรวจสุขภาพตา
ขั้นตอนสุดท้ายของการตรวจสุขภาพตา คือ การพบจักษุแพทย์ โดยจักษุแพทย์จะทำการตรวจอย่างละเอียด วิเคราะห์ผลการตรวจ และสรุปผลให้ท่านทราบ แพทย์อาจแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติมอย่างละเอียด เพื่อหาโรคทางตาบางชนิด หรือ อาจแนะนำให้ใช้อุปกรณ์เพื่อช่วยในการมองเห็น เช่น แว่นสายตา และอาจมีการรักษาปัญหาที่พบในระหว่างการตรวจ หรือแนะนำให้ไปพบจักษุแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาต่อไป



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น