อาการเสียวฟัน...อันตรายกว่าที่คุณคิด (Health Plus)
อาการเสียวฟัน เป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน จากการวิจัยพบว่าระหว่าง 8-30 เปอร์เซ็นต์ หรือทุก 1 ใน 4 คนของผู้ใหญ่ทั่วโลก จะประสบกับอาการเสียวฟันอย่างน้อยครั้งหนึ่งหรือมากกว่า และถ้ายิ่งไม่ระวังหรือละเลยไม่หาวิธีแก้ไข อาจลุกลามเป็นเหตุให้เกิดโรคเหงือกหรือสูญเสียฟันในที่สุดได้ แต่ปัญหานี้กลับยังไม่เป็นที่เข้าใจโดยคนส่วนใหญ่
อาการเสียวฟัน คือ การที่เคลือบฟันของเราสึกหรือเหงือกร่น ทำให้เนื้อฟันสัมผัสกับอาหาร หรือสิ่งกระตุ้นโดยตรง โดยปกติฟันของเราจะถูกปกป้องด้วยเคลือบฟันและเหงือก เมื่อเคลือบฟันของเราสึกหรือหลุดออก หรือเหงือกร่นมากขึ้น เคลือบฟันจะถูกเปิดออกให้สัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอก
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเสียวฟัน
การขบเคี้ยวหรือกัดฟันที่เกิดขึ้นตลอดเวลา
กินอาหารที่เป็นกรด หรือรสเปรี้ยว เช่น น้ำผลไม้ น้ำส้มสายชู ไวน์ น้ำอัดลม
การแปรงฟันมากเกินไป ใช้ขนแปรงแข็ง
ลักษณะของฟัน หรืออาการเสียวฟันที่เกิดขึ้น เริ่มต้นเมื่อเคลือบฟันถูกกัดกร่อนจากปัจจัยข้างต้น จนเกิดเป็นช่องขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า เมื่อรับประทานอาหารเปรี้ยวจัด เย็นจัด ร้อนจัด หรือแปรงฟันไปเสียดสี จะกระตุ้นของเหลวในท่อฟัน (Fluid in the Dentinal Tubules) และเนื้อเยื่อภายในฟันที่เรียกว่า A Delta Fiber ทำให้เกิดอาการเสียวแปลบเฉียบพลัน จนไม่สามารถรับประทานอาหารได้อย่างมีความสุข
นอกจากนั้นจากการวิจัยยังพบด้วยว่า ในวัยผู้ใหญ่ช่วงอายุระหว่าง 25-45 ปี จะมีปัญหาเสียวฟันมากกว่า และพบสูงสุดในช่วงอายุ 30 ปี โดยมักจะเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงแปรงฟันบ่อยและแรงเกินไป คนสูงอายุจะเสียวฟันน้อยกว่าคนหนุ่มสาว เพราะเนื้อเยื่อและของเหลวในท่อฟันจะลดลง รับความรู้สึกจากสิ่งกระตุ้นได้น้อยกว่า และฟันที่มีอาการเสียวฟันมากที่สุด จะเป็นด้านตรงข้ามกับมือข้างที่ถนัดของผู้มีอาการเสียวฟัน กล่าวคือ คนถนัดขวาจะเสียวฟันด้านซ้าย คนถนัดซ้ายจะเสียวฟันด้านขวา
ดังนั้นปัญหาต่าง ๆ ของอาการเสียวฟัน สามารถป้องกันและรักษาได้ หากเข้าใจสาเหตุที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และเตรียมหาวิธีป้องกันแก้ไขที่ถูกต้อง
วิธีป้องกันอาการเสียวฟัน
แปรงฟันถูกวิธี ผู้ที่ชอบแปรงฟันแรง ๆ มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดอาการเสียวฟันมาก การแปรงฟันแรงมากเกินไปและแปรงฟันผิดวิธี โดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้แปรงชนิดขนแข็งกดลงไปแรง ๆ หรือแปรงตามขวาง โดยหวังให้ฟันขาวเป็นประกายเงางามนั้นจะมีผลทำลายผิวเคลือบฟันและเร่งให้เนื้อฟันถูกเปิดเร็วขึ้น และเหงือกอาจเป็นแผลได้
วิธีทำความสะอาดฟันที่มีอาการเสียวฟันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรใช้แปรงที่ขนอ่อนนุ่มแปรงรอบ ๆ และใต้แนวเหงือก ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อมต่อระหว่างเหงือกและส่วนบนของซี่ฟัน และควรทำความสะอาดให้ทั่วทุกซอกฟัน ไม่ควรแปรงฟันแรงเกินไป
ควรลดการรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์เป็นกรดหรือเปรี้ยวจัด เพราะอาจมีผลให้เคลือบฟันค่อย ๆ สึกออกจากผิวฟัน ทำให้เนื้อฟันถูกเปิดออก
พบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพฟันและขูดหินปูนรอบ ๆ แนวเหงือก เพื่อลดการสะสมของเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งก่อให้เกิดอาการเหงือกร่นและเนื้อฟันถูกเปิดได้ในที่สุด
บุคลิกของกลุ่มผู้มีอาการเสียวฟัน
คนที่แปรงฟันมาก บ่อย และใช้แปรงขนแข็ง
กลุ่มบูลีเมีย (Bulimia) หรือคนลดน้ำหนัก ที่ทำให้ขาดสารอาหารบางอย่าง
กลุ่มซีโรสโตเมีย (Xerostomia) คือ คนที่มีน้ำลายน้อย ไม่สามารถลดกรดในช่องปาก
คนที่ชอบกินของเปรี้ยว และน้ำอัดลมเป็นประจำ
การบำบัดรักษาอาการเสียวฟัน
บำบัดโดยทันตแพทย์ ด้วยการใช้สารเคลือบรูปแบบต่าง ๆ เพื่ออุดรอยสึกกร่อนบนเคลือบฟันที่จะนำสู่ท่อฟัน เรียกว่าวิธี ออกซาเลท (Oxalate)
การบำบัดด้วยตนเองที่บ้านตามคำแนะนำของทันตแพทย์ ด้วยการใช้ผลิตภัณฑ์หรือยาสีฟันเพื่อลดอาการเสียวฟัน
ใช้ยาสีฟันที่มีสารโปแตสเซียมไนเตรด ที่องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐฯ รับรอง รวมถึงโปแตสเซียมคลอไรด์ และโปแตสเซียมไนเตรด
ใช้ยาสีฟันที่มีสารสตรอนเดียมคลอไรด์ เฮกซะไฮเดรต
ยาสีฟันผสมโปแตสเซียมไนเตรด และโซเดียมฟลูออไรด์
มีสุขนิสัยที่ดี รักษาความสะอาดช่องปากอย่างสม่ำเสมอ
จากการวิจัยพบว่า ยาสีฟันมีส่วนผสมของโปแตสเซียมไนเตรดมีส่วนช่วยหยุดยั้งขบวนการส่งผ่านความรู้สึกที่บริเวณปลายประสาทฟัน และช่วยลดอาการเสียวฟัน นอกจากนี้สารสตรอนเดียมคลอไรด์เฮกซะไฮเดรต สามารถช่วยเคลือบปิดท่อในเนื้อฟันบริเวณที่เนื้อฟันถูกเปิดออก และป้องกันไม่ให้เนื้อฟันสัมผัสกับสิ่งกระตุ้นภายนอก เช่น ของร้อน ของเย็น อาหารที่มีรสเปรี้ยว หรือจากการสัมผัส อันเป็นสาเหตุให้เกิดผลกระทบต่อปลายเส้นประสาท ที่อยู่บริเวณนั้นทำให้เกิดความรู้สึกเสียวฟัน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น